You are on page 1of 6

แนวคิดเกี่ยวกับยุคพันปี

และการถูกรับขึ้นไปของคริสตจักร

เป็นที่รับรู้กันว่า พระธรรมวิวรณ์ มีข้อสงสัย ข้อถกเถียงอย่างมากมาย อาจจะมากกว่าพระธรรมทุกเล่มในพระคัมภีร์


เพราะพูดถึงเรื่องในอนาคต และใช้ภาษาที่เป็นสัญลักษณ์ ในบทความนี้ผมจะนำเสนอแนวคิดและมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับ
ยุคพันปี (Millennium) และ การถูกรับขึ้นไป (Rapture)

ยุคพันปี (Millennium)

โดยทั่วไป "ยุคพันปี" ที่ถูกกล่าวไว้ในพระธรรมวิวรณ์ (20:6) หมายถึง


การที่คริสเตียนจะได้ครอบครองร่วมกับพระคริสต์เป็นเวลาพันปี
ก่อนที่จะมีสงครามครั้งใหญ่และจบลงด้วยชัยชนะของพระคริสต์ จากนั้นจะมีการพิพากษาครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า การพิพากษา
ณ พระที่นั่งสีขาว

มีทัศนะเกี่ยวกับยุคพันปี 3 ทัศนะ

Postmillennialism (หลังยุคพันปี)

ทัศนะนี้เชื่อว่า จะมีอาณาจักรใหม่บนแผ่นดินโลกในอนาคต พันปีในที่นี้ไม่ได้ตีความตามอักษร


แต่เชื่อว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน (อาจจะยาวนานกว่าหนึ่งพันปีก็ได้) โดยแนวคิดนี้เสนอว่า
การประกาศของคริสตจักรจะทำให้โลกกลับใจใหม่ เชื่อในองค์พระเยซูคริสต์
และจะนำมาสู่โลกใหม่ที่เต็มไปด้วยความชอบธรรม

แนวคิดนี้จึงจะเชื่อว่าโลกนี้จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านทางการประกาศข่าวประเสริฐ ภายหลังนักวิชาการไม่ค่อยยอมรับแนวคิดนี้


โดยเฉพาะหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะโลกไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ตีความ

Amillennialism (ไม่มียุคพันปี)

แนวคิดนี้อธิบายว่า ไม่มียุคพันปีจริง ๆ ยุคพันปีในวิวรณ์ 20:6


เป็นเพียงการสื่อความหมายแบบสัญลักษณ์ว่าหมายถึงช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ยาวนาน หรือไม่ก็เป็น ยุคพันปีทางวิญญาณ
(Spiritual Millennium) เกิดขึ้นในระหว่างการเสด็จมาครั้งแรกและครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์

ดังนั้น ปัจจุบันเราก็อยู่ในยุคพันปีทางวิญญาณแล้ว สำหรับแนวคิดนี้ และพระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมาหลังจากยุคพันปีนี้


และจะไม่เชื่อว่าโลกนี้จะกลับใจทั้งหมดจากการประกาศของคริสตจักร

Premillennialism (ก่อนพันปี)

แนวคิดนี้เชื่อว่า พระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมาก่อนยุคพันปีที่กล่าวถึงในพระธรรมวิวรณ์จะเริ่มต้นขึ้น
แนวคิดนี้จะยึดตามตัวอักษร โดยจะมองว่า วิวรณ์ 19 เป็นการอ้างถึงการเสด็จกลับมาของพระเยซูคริสต์
ก่อนที่จะกล่าวถึงยุคพันปีในวิวรณ์ 20

แนวคิดนี้เชื่อว่าโลกจะค่อยเริ่มเสื่อมทรามลง และตกต่ำที่สุดในช่วงการทนทุกข์ครั้งใหญ่ (Great Tribulation)


แนวคิดนี้ยังแบ่งออกเป็น 2 แนว คือ
แนวประวัติศาสตร์ (historic premillennialism
เชื่อว่าพระสัญญาสำหรับอิสราเอลที่กล่าวถึงในพันธสัญญาเดิมเป็นการกล่าวถึงคริสตจักร)
แนวอนุรักษ์ (dispensational premillennialism เชื่อว่าพระสัญญาที่กล่าวถึงอิสราเอล
เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชนชาติอิสราเอลจริง ๆ)

นักวิชาการที่ยึดหลักการตีความตามตัวอักษรจะยอมรับทัศนะก่อนยุคพันปี
เพราะสอดคล้องกับสิ่งที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ที่สุด

การถูกรับขึ้นไป (Rapture)

ส่วนเรื่องการที่พระเยซูจะทรงรับคริสตจักรไปจากโลกนี้ (rapture) ก็ได้มีทัศนะต่าง ๆ ดังนี้

Partial Rapturism (การรับขึ้นไปบางส่วน)

ทฤษฎีนี้เสนอว่าไม่ใช่ผู้เชื่อทุกคนที่จะได้ถูกรับไป มีเพียงแค่ผู้ที่เฝ้ารอคอย
ผู้ที่มีชีวิตฝ่ายวิญญาณที่ติดสนิทกับพระเจ้าเพียงพอเท่านั้น ที่จะถูกรับไป

Posttribulational Rapture (การรับขึ้นไปภายหลังการทนทุกข์ครั้งใหญ่)

ทฤษฎีนี้เสนอว่าหลังจากที่ภัยพิบัติทุกประการที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์เกิดขึ้นจนครบถัวนแล้ว คริสตจักรจึงจะถูกรับขึ้นไป
ซึ่งเวลาที่ถูกรับไปก็จะเกิดขึ้นก่อนที่พระเยซูคริสต์เจ้าจะทรงเสด็จกลับมายังโลกนี้เพื่อครอบครองยุคพันปี

Midtribulational Rapture (การรับขึ้นไประหว่างการทนทุกข์)

ทฤษฎีนี้แยกออกมาจากทฤษฎี pretribulational view (การรับขึ้นไปก่อนการทนทุกข์) โดยแนวคิดแบบ


midtribulational นี้เชื่อว่าคริสตจักรจะได้รับการยกเว้นจากความความทุกข์ยากลำบากในช่วง 3
ปีครึ่งสุดท้ายของการทนทุกข์ครั้งใหญ่ และการที่คริสตจักรถูกรับไปจะสามารถคาดการณ์ได้
โดยพิจารณาจากข้อมูลที่ว่ายุคเจ็ดปีสุดท้าย (สัปตะสุดท้าย) จะเริ่มต้นเมื่อมีการตกลงกัน
ทำพันธสัญญากันระหว่างปฏิปักษ์ของพระคริสต์ (antichrist) และอิสราเอล (ดนล.9:27)
"ท่านจะทำ พันธสัญญาเข้มแข็งกับคนเป็นอันมากอยู่หนึ่งสัปตะ ท่านจะกระทำให้การถวายสัตวบูชา และเครื่องบูชาอื่นๆ
หยุดไปครึ่งสัปตะ ผู้ที่จะกระทำให้เกิดความวิบัตินั้น จะมาบนปีกของสิ่งน่าสะอิดสะเอียน
จนความอวสานที่ได้กำหนดไว้จะถูกเทลงเหนือผู้กระทำให้เกิดความวิบัตินั้น"

Pre-wrath Rapture (การรับขึ้นไปก่อนการเทขันแห่งพระพิโรธ)

ทฤษฎีนี้มาจากแนวคิดที่ว่าเราสามารถแบ่งเหตุการณ์ในยุคเจ็ดปีสุดท้ายออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

ช่วงเริ่มต้น (มธ.24:4-8 ตราดวงที่หนึ่งถูกแกะ ตรงกับช่วงครึ่งแรกของยุคเจ็ดปีแห่งการทนทุกข์)


ช่วงความยากลำบากยิ่งใหญ่ (มธ.24:21 ตราดวงที่สองถึงดวงที่ห้าถูกแกะ
คริสตจักรจะถูกรับไปหลังจากที่ตราดวงที่หกเริ่มขึ้น)
ช่วงวันแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า (เกิดขึ้นหลังคริสตจักรถูกรับไปแล้ว และภัยพิบัติต่างๆ ตั้งแต่ตราดวงที่เจ็ดถูกแกะ)
ดังนั้นคริสตจักรจะถูกรับไปในช่วงครึ่งหลังของยุคเจ็ดปี

Pretribulational Rapture (การรับขึ้นไปก่อนการทนทุกข์)

ทัศนะนี้เชื่อว่าการถูกรับขึ้นไปและการฟื้นขึ้นจากความตายของผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์ จะเกิดขึ้นก่อนการทนทุกข์ครั้งใหญ่
และการถูกรับไปของผู้เชื่อจะเป็นไปอย่างเฉียบพลัน ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะทรงรับไปเมื่อใด

นักวิชาการหลายคนมองว่าเรื่องการถูกรับไปของคริสตจักรตามแนวคิด pretribulational จะมีข้อสนับสนุนมากที่สุด


โดยมีเหตุผลสนับสนุนได้แก่

เป็นการตีความหมายตามตัวอักษร เป็นแนวคิดที่ได้จากการตีความหมายตรงๆ
จากพระสัญญาและคำพยากรณ์ต่างๆ ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม
ลักษณะของช่วงภัยพิบัติเจ็ดปีสุดท้าย โดย พระคัมภีร์ได้มีการใช้คำต่างๆ ที่อ้างถึงช่วงยุคสุดท้ายว่าเป็นพระพิโรธ
เป็นการลงโทษ เป็นช่วงแห่งความยากลำบาก เป็นช่วงการทำลาย และเป็นยุคมืด ซึ่งทำให้เราทราบได้ว่า
ในช่วงภัยพิบัติต่างๆ เหล่านี้ เป็นพระพิโรธของพระเจ้า
และพระเยซูคริสต์เจ้าก็ทรงรับพระพิโรธของพระเจ้าแทนเราทั้งหลายไปแล้ว
ดังนั้นพวกเราซึ่งเป็นลูกของพระเจ้าจึงไม่ควรที่จะต้องรับพระพิโรธนี้แล้ว
“เพราะว่า พระเจ้ามิได้ทรงกำหนดเราไว้สำหรับพระอาชญา แต่สำหรับให้เข้าสู่ความรอด
โดยพระเยซูคริสตเจ้าของเรา ผู้ทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา เพื่อว่าถึงเราจะตื่นอยู่ หรือจะหลับ
เราจะได้มีชีวิตกับพระองค์" (1 ธส.5:9-10)
ขอบเขตของยุคเจ็ดปีสุดท้าย ช่วงเจ็ดปีสุดท้ายนี้
จะเป็นช่วงที่กล่าวถึงสำหรับชาวต่างชาติที่ไม่เชื่อและชาวอิสราเอลเท่านั้น โดยมาจากการตีความหมายว่า
ช่วงที่กล่าวถึงนั้น จะเป็นเวลาทุกข์ใจของชาวอิสราเอล (เวลาทุกข์ใจของยาโคบ ในเยเรมีย์ 30:7)
เป็นเรื่องราวของชนชาติของดาเนียลและนครเยรูซาเล็ม (ชนชาติของท่าน และนครบริสุทธิ์ของท่าน ในดาเนียล
9:24) ซึ่งคริสตจักรเพิ่งเริ่มขึ้นหลังจากวันเพนเทคศเต และเป็นสิ่งที่ลึกลับมาก
คริสตจักรทำให้ยิวและชาวต่างชาติไม่แตกต่างกัน ซึ่งในพระคัมภีร์เดิมยังไม่มีคริสตจักร
ดังนั้นสิ่งที่พระคัมภีร์เดิมพูดถึง น่าจะหมายถึงชาวอิสราเอล
"อนิจจาเอ๋ย วันนั้นใหญ่โตเหลือเกิน ไม่มีวันใดเหมือน เป็นเวลาทุกข์ใจของยาโคบ แต่เขาก็ยังจะรอดวันนั้นไปได้"
(ยรม.30:7)
"มีเจ็ดสิบสัปตะแห่งปีกำหนดไว้สำหรับชนชาติของท่าน และนครบริสุทธิ์ของท่าน เพื่อให้เสร็จสิ้นการทรยศ
ให้บาปจบสิ้น และให้ลบมลทิน เพื่อนำความชอบธรรมนิรันดร์เข้ามา เพื่อประทับตราทั้งนิมิต
และคำของผู้เผยพระวจนะไว้ และเพื่อจะเจิมสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุด" (ดนล.9:24)
วัตถุประสงค์ของช่วงเจ็ดปีสุดท้าย ก็คือ เพื่อเป็นการทดลองใจ (วว.3:10)
และเพื่อเป็นการเตรียมชนชาติอิสราเอลสำหรับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์ (มลค.4:5-6)
แต่ทว่าคริสตจักรที่แท้จริง บริสุทธิ์และปราศจากตำหนิอยู่แล้ว จึงไม่ควรจะต้องถูกทดสอบอีก
“ฝ่ายสามีก็จงรักภรรยาของตน เหมือนอย่างที่พระคริสต์ทรงรักคริสตจักร
และทรงประทานพระองค์เองเพื่อคริสตจักร เพื่อจะได้ทรงทำให้คริสตจักรบริสุทธิ์ โดยการทรงชำระด้วยน้ำ
และพระวจนะ เพื่อพระองค์จะได้มีคริสตจักรที่มีสง่าราศี ไม่มีตำหนิริ้วรอย หรือมลทินใดๆ เลย
แต่บริสุทธิ์ปราศจากตำหนิ" (อฟ.5:25-27)
เอกภาพของความยากลำบากช่วงเจ็ดปีสุดท้าย การศึกษาจะพบว่าลักษณะของช่วงเวลานี้ตลอดเจ็ดปี
มีลักษณะเดียวกัน จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่คริสตจักรจะต้องประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น
ลักษณะของคริสตจักร คริสตจักรที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องประสบกับพระพิโรธ แต่จะถูกรับขึ้นไป ดังที่ได้กล่าวไว้ว่า
คริสตจักรที่แท้จริงบริสุทธิ์และปราศจากตำหนิ (อฟ.5:25) สมบูรณ์แบบ และจะพ้นจากการพิพากษา
ถ้าหากว่าคริสตจักรยังต้องประสบกับพระพิโรธและการพิพากษาของพระเจ้าอีก
พระสัญญาของพระเจ้าก็จะไม่เกิดผล และการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ก็ไม่สามารถช่วยเราได้
"เหตุฉะนั้น การลงโทษจึงไม่มีแก่คนทั้งหลาย ที่อยู่ในพระเยซูคริสต์" (รม.8:1)

อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่าเกือบทุกเรื่องในพระธรรมวิวรณ์มีข้อถกเถียงกันโดยเฉพาะในทางวิชาการ
แต่สิ่งที่ไม่เถียงกันเลย คือ ทุกคนที่วางใจในพระเยซูจะได้ไปสวรรค์แน่นอน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มียุคพันปี
หรือไม่ว่าการรับขึ้นไปจะเป็นทฤษฎีไหน

บทความ:  ศจ. ดร. สมใจ รักษาศรี


ศิษยาภิบาลคริสตจักรแห่งความเชื่อแบ๊บติสต์
อาจารย์สถาบันพระคริสตธรรมศึกษา Faith Bible Institute
ภาพ:  Javier Vinals on Unsplash
ออกแบบ:  RainnieDesign

https://christlike.co/resource/millennium-and-rapture/

You might also like