You are on page 1of 20

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์
บทบาทของเพศหญิงในสังคมอังกฤษช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผ่านการศึกษาวรรณกรรมและ
ภาพยนตร์เรื่อง Enola Holmes

เสนอ
ผศ. ดร. ทอแสง เชาว์ชุติ

จัดทำโดย
1. กานต์ธิดา กำเนิดศิริ 6240013422
2. ปุณยานุช มงคลทอง 6240136022

รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา 2210260 วรรณคดีทัศนา


ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2563
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1

บทบาทของเพศหญิงในสังคมอังกฤษช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผ่านการศึกษาวรรณกรรมและ
ภาพยนตร์เรื่อง Enola Holmes
บทนำ
ในปัจจุบัน กระแสสตรีนิยม (Feminism)1 เป็นกระแสที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เราสามารถ
พบเจอการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ในสังคมได้ผ่านหลากหลายรูปแบบ เช่น สื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะ
ในวรรณกรรม กระแสสตรีนิย มปรากฏควบคู่กับงานวรรณกรรมมาอย่างยาวนานจนเกิดเป็นวรรณกรรม
ประเภทหนึ่ง คือ วรรณกรรมแนวสตรีนิยม (Feminist literature) ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สังคมปิตาธิปไตย
รวมทั้งเสนอและสนับสนุนแนวคิดของสตรีนิยมโดยตรง (Nodelman, 1988, p. 32) นอกจากวรรณกรรมแนว
สตรีนิยมแล้ว อิทธิพลของกระแสสตรีนิยมยังปรากฏสอดแทรกผ่านวรรณกรรมประเภทอื่นอีกด้วย โดยเฉพาะ
วรรณกรรมเยาวชนที่มีกลุ่มผู้อ่านหลักคือเยาวชนและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยจะสอดแทรกแนวคิดนี้ผ่านตัวละคร
หลักเพศหญิงที่มีลักษณะแตกต่างจากขนบและกรอบของจารีตที่สังคมปิตาธิปไตยครอบงำไว้ มีความคิดที่
พิเศษ แปลกใหม่ แหวกแนวออกไปจากขนบ พึ่งพาตนเองเป็นหลัก สามารถตัดสินใจกระทำสิ่งต่าง ๆ ได้ตาม
ความพึงพอใจของตนเอง และเชื่อมั่นในความสามารถและความต้องการของตนเอง
วรรณกรรมเยาวชนที่สอดแทรกคติสตรีนิยมไว้ที่เห็นได้ชัดเจนเรื่องหนึ่งเช่นเรื่อง Little Women ที่
กล่าวถึงประเด็นการสนับสนุนให้ผู้หญิงทำสิ่งที่ตัวเองต้องการได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงกรอบทางสังคมที่วางไว้เพื่อ
กำหนดชีวิตของพวกเธอและผู้หญิงรุ่นก่อน ดังที่ถูกนำเสนอผ่านตัวละครเอกอย่างโจ โดยการที่โจปฏิเสธการ
แต่งงานกับคนที่เธอไม่ได้รักและเลือกเส้นทางอาชีพของตัวเองอย่างอาชีพนักเขียน ความต้องการใช้ชีวิตในทาง
ที่เธอเลือกปรากฏชัดในบทพูดของเธอที่ว่า “I intend to make my own way in the world” (Gerwig,
2019, 0:35:28) หรือแม้กระทั่งความต้องการแต่งงานตามขนบของตัวละครเม็กก็วางอยู่บนฐานความต้องการ
ของตัวเธอเอง แม้ว่าการแต่งงานจะยึดโยงกับคุณค่าของผู้หญิงตามจารีตเดิม แต่การที่เม็กยืนยันในความ
ต้องการของตัวเธอเองและคิดว่าทุกความปรารถนานั้นสำคัญ ดังที่ปรากฏในบทสนทนาระหว่าเม็กกับโจว่า
“Just because my dreams are different than yours doesn’t mean they are unimportant”
(Gerwig, 2019, 1:31:50) ทัศนคตินี้ก็สอดคล้องกับแนวคิดสตรีนิยมที่สนับสนุนให้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพในการ
ดำรงชีวิตตามความต้องการของตนเองโดยไม่ต้องคำนึงถึงค่านิยมหรือกรอบทางเพศ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเกี่ยวข้อง
กับการเมืองโดยตรงหรือเป็นเพียงเรื่องราวในชีวิตประจำวันทั่วไปก็ตาม ลักษณะของแนวคิดสตรีนิยมที่ปรากฏ

1 กระแสสตรีนิยม (Feminism) คือแนวคิดและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มุ่งให้ความหมายและสร้างความเท่าเทียมทางเพศในด้าน


เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และต่อต้านสังคมที่เพศชายมีอำนาจสูงกว่า และผู้หญิงถูกผลักให้ไปเป็นเพศรอง โดยมุ่งเน้นให้เพื่อสร้างความ
ตระหนักรู้ถึงสิทธิสตรีทั้งใบริบทการเมืองและในชีวิตประจำวัน รวมทั้งยังสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นและพื้นที่ของผู้หญิงในแวดวงต่าง ๆ
โดยตั ้ ง อยู ่ บ นพื ้ น ฐานของความท่ า เที ย มทางเพศ ( Hollows, J. & Moseley, R., 2006. p. 84 as cited in Feminism: Cultural
Movements, 2020)
2

ในเรื่อง Little Women นี้ก็ได้ปรากฏเป็นลักษณะร่วมในวรรณกรรมคัดสรรที่รายงานฉบับนี้มุ่งศึกษา คือเรื่อง


Enola Holmes เช่นกัน
วรรณกรรมเรื่อง Enola Holmes เล่มที่ 1 ตอน The Case of the Missing Marquess เป็นเรื่องราว
สมมติที่เกิดขึ้นในอังกฤษช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเด็กสาวที่มีชื่อว่า เอโนลา
โฮล์มส์ ซึ่งเป็นน้องสาวของเชอร์ล็อกและไมครอฟท์ โฮล์มส์ ตัวละครเอกจากนวนิยายสืบสวนชื่อดังชุดเชอร์
ล็อค โฮล์มส์ เอโนลาอาศัยอยู่กับแม่เพียงสองคนมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งวันหนึ่ง แม่ของเอโนลาได้หายตัวไป
ทิ้งไว้เพียงตัวอักษรถอดรหัสคำไว้เป็นของขวัญวันเกิด หลังจากนั้น เอโนลาจึงตัดสินใจออกตามหาแม่เพียง
ลำพัง วรรณกรรมเรื่องนี้ได้เล่ าถึงการผจญภัยของเด็กสาวเอโนลาในโลกกว้างภายนอก การพบเจอสิ่งใหม่ ๆ
ของเอโนลา รวมไปถึงการที่เอโนลาต้องเข้าไปพัวพันกับคดีการหายตัวไปของขุนนางหนุ่มที่มีชื่อว่าทิวส์เบอรี
ทำให้เราได้เห็นถึงทักษะทั้งในด้านร่างกายและสติปัญญาของเอโนลา รวมไปถึงการตัดสินใจเลือกใช้ชีวิ ตของ
ตนเองในวิถีทางที่แตกต่างจากเด็กสาวทั่วไปในสมัยนั้นซึ่งเป็นลักษณะของสิทธิสตรีที่แนวคิดสตรีนิยมสนับสนุน
ซึ่งสอดคล้องกับตัวละครหญิงในเรื่อง Little Women ดังที่กล่าวมาข้างต้น ในขณะเดียวกันวรรณกรรมเรื่อง
Enola Holmes ยังเสนอมุมมองสตรีนิยมและการเรียกร้องสิทธิสตรีในแง่มุมอื่นผ่านตัวละครเอโนลาอีกด้วย
เอโนลา โฮล์มส์เป็นเด็กสาวที่ช่างสังเกต สนอกสนใจในสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเสมอ มีสติปัญญาเฉียบ
แหลม ทั้งยังมีทักษะทางด้านร่างกายในระดับที่สามารถเอาตัวรอดได้ ความสามารถดังกล่าวที่เอโนลามีนั้นต่าง
จากลักษณะของเด็กสาวในอุดมคติช่วงวิคตอเรียเป็นอย่างมาก ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจาก
สามารถเชื่อมโยงเข้าได้กับการเกิดขึ้นของกลุ่ม New Woman ซึ่งเป็นขบวนเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรี
ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อีกทั้งลักษณะของ New Woman นั้นยังคล้ายคลึงกับลักษณะนิสัยของตัวเอ
โนลา ดังนั้น ในรายงานฉบับนี้ กลุ่มผู้จัดทำจึงตัดสินใจที่จะศึกษาบทบาทของเพศหญิงในสังคมอังกฤษช่วง
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผ่านการศึกษาวรรณกรรมและภาพยนตร์ดัดแปลงเรื่องเอโนลา โฮล์มส์ รวมไปถึง
วิเคราะห์ตัวละครเอโนลาว่ามีความเกี่ยวข้องกับประเด็น New Woman ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ ในรายงานฉบับนี้จะกล่าวถึงความหมายของสังคมแบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) อันเป็นลักษณะ
ที่อยู่ควบคู่กับสังคมยุโรปมาโดยตลอด และเป็นสิ่งที่แบ่งแยกบทบาทและหน้าที่ทางเพศ รวมไปถึงประเด็นชน
ชั้นทางสังคมในสมัยนั้นที่สัมพัน ธ์กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคม
อังกฤษช่วงนั้น ทั้งยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับขบวนการ New Woman ในสังคมอังกฤษช่วงคริสต์ศตวรรษ
ที่ 18 อีกด้วย โดยในส่วนแรกจะกล่าวถึงบริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาพสังคมและ
ค่านิยมยุควิคตอเรีย ระบอบปิตาธิปไตย ขบวนการ New Woman และความสัมพันธ์ระหว่างบริบททางชนชั้น
กับ New Woman เพื่อเป็นพื้นฐานของแนวคิดที่จะนำมาวิเคราะห์ตัวบทวรรณกรรมเรื่อง Enola Holmes
และนำเสนอบทสรุปต่อไป
จากการศึ ก ษาวิเ คราะห์ ตัว บทวรรณกรรมและภาพยนตร์ เรื ่ อ ง Enola Holmes ผ่านบริบ ททาง
ประวัติศาสตร์และสังคมพบว่า แม้ทั้งผู้เขียนและผู้สร้างภาพยนตร์จะพยายามถ่ายทอดลักษณะนิสัยของเอโน
3

ลาที่แตกต่างจากขนบของผู้หญิงในกรอบสังคมร่วมสมัย มีความสามารถที่แตกต่างไปจากผู้หญิงในยุคที่ยอม
ปฏิบัติภายใต้กรอบของความเป็นหญิง แสดงให้เห็นถึงลักษณะความเป็น New Woman ของเอโนลา แต่
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วความสามารถที่เอโนลามีกลับถูกใช้ในฐานะบทบาทรองที่คอยสนับสนุนตัวละคร
ชาย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วกลับหักล้างการก้าวข้ามบทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้สนับสนุนบุรุษเพศตามระบอบ
ปิตาธิปไตยอยู่ดี

บริบททางสังคมและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
สังคมยุควิคตอเรีย
ยุควิคตอเรีย (Victorian Era) คือช่วงที่สหราชอาณาจักรอยู่ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระราชินี
นาถวิกตอเรียตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1837 จนถึง 22 มกราคม ค.ศ. 1901 เป็นยุคที่ยึดถือคุณค่าความ
บริสุทธิ์ทางศีลธรรม การตั้งมาตรฐานทางศีลธรรมและจริยธรรมให้สูง บทบาทของเพศชายหญิงแยกจากกัน
ชัดเจน ความแตกต่างทางชนชั้นเห็นได้ชัดเจน (ตุลย์ อิศรางกูร และภาวรรณ เรืองศิลป์ , 2562) การแบ่งแยก
ระหว่ า งชายหญิ ง เห็ น ชั ด ขึ ้ น ได้ จ ากการแบ่ ง พื ้ น ที ่ ข องชายหญิ ง ( Separate spheres) กล่ า วคื อ เป็ น
ปรากฏการณ์การแบ่งและกำหนดการใช้สอยพื้นที่สาธารณะ (Public sphere) แยกออกเด็ดขาดกั บพื้นที่
ภายในบ้าน (Domestic sphere) โดยเพศชายจะถูกยึดโยงกับพื้นที่ภายนอกบ้าน ขณะที่เพศหญิงถูกยึดโยงกับ
พื้น ที่ภ ายในบ้ าน ดังที่ Jean V. Matthews (2003) ได้อธิบายเอาไว้ ใ นหนัง สื อ “The rise of the new
woman” ว่า “Men and women are designed by God and nature to operate in different arenas
-- men in the public world of exploit, war, work, intellect, and politics; women in the world of
nurturance and the affections centered on the home” การแบ่งแยกพื้นที่ตามเพศนี้มีมูลฐานแนวคิด
มาจากความเชื่อที่ว่าลักษณะทางกายภาพบ่ง ชี้บทบาททางเพศได้ กล่าวคือมนุษย์คนใดที่มีเพศกำเนิดเป็นเพศ
หญิงควรหลีกเลี่ยงพื้น ที่สาธารณะ ซึ่งหมายความรวมถึงกิจกรรมภายนอกงานบ้านงานเรือนทั้งสิ้น เช่น
การเมือง การทำงานประจำในลักษณะเดียวกับผู้ชาย การค้าขาย และกฎหมาย กลับกันสตรีเพศควรเอาใจใส่
ในพื้นที่ภายในบ้านเช่น การบ้านการเรือน การอบรมเลี้ยงดูและการให้การศึกษาแก่ลูก รวมทั้งการรักษา
ศีลธรรมจริยธรรมตามขนบทางศาสนาอย่างเคร่งครัด (Kuersten, 2003, 16-17)
ตามบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว อังกฤษในศตวรรษที่ 19 ถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงและการ
ขยายจำนวนผู้มีสิทธิการเลือกตั้ งผ่านการยื่นพระราชบัญญัติปฏิรูปหลายครั้ง นับตั้งแต่ Great Reform Act
ค.ศ. 1832 ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูปกฎหมายระบอบการเลือกตั้งของอังกฤษฉบับแรกนับตั้งแต่ยุคกลาง เพื่อ
แก้ไขปัญหาการเลือกตั้งที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ของประเทศ จึงนำไปสู่การผลักดันกฎหมายปฏิรูประบอบการเลือกตั้งนี้ที่สำเร็จในเวลาต่อมา ส่งผลให้มีการ
ปรับปรุงเขตเลือกตั้งให้เหมาะสมกับจำนวนประชากร ขยายสิทธิการเลือกตั้งแก่ชายชาวอังกฤษ และลด
4

คุณสมบัติเงื่อนไขด้านทรัพย์สินลง ส่งผลให้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นราวสองแสนคน (Reform bill, 2020) การ


ปฏิรูป ค.ศ. 1832 ยังส่งอิทธิพลต่อการผ่านพระราชบัญญัติปฏิรูปค.ศ. 1867 หรือ Second Reform Act
1867 อีกด้วย พระราชบัญญัติฉบับนี้ลดคุณสมบัติการเลือกตั้งลงทำให้กรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเลือกตั้ง
เพิ่มขึ้น และในพระราชบัญ ญั ติ ป ฏิร ูป ค.ศ. 1884 หรือ Third Reform Act 1884 ก็บัญญัติล ดเงื่ อ นไข
คุณสมบัติผู้เลือกตั้งลงจนทำให้ชายชาวอังกฤษมีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นรา 2.5 ล้านคน จนอาจกล่าวได้ว่าชายชาว
อังกฤษที่บรรลุนิติภาวะและมีคุณสมบัติตามที่กำหนดมีสิทธิเลือกตั้งได้ทุกคนแล้ว (อังกฤษ “ปฏิรูป” อะไรใน
ภาพยนตร์เรื่อง “Enola Holmes” ?, 2563)
จะเห็นได้ว่าการเรียกร้องขยายสิทธิผู้เลือกตั้งในสังคมอังกฤษในศตวรรษที่ 19 นี้เป็นการเรียกร้องเพื่อ
ขยายกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ครอบคลุมถึงประชากรชั้นแรงงานเพื่อเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็ม
รูปแบบให้กว้างขวางมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการขยายสิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลับครอบคลุมแค่เพศชายเท่านั้น
เพศหญิงยัง คงถูก กีด กั น ออกจากบริบ ททางการเมื องตามค่า นิ ยม Separate spheres จึงเกิดขบวนการ
เรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของผู้หญิงต่อไป ซึ่งจะสำเร็จได้ ในช่วงต้น
ศตวรรษที่ 20 ด้วย Parliament (Qualification of Women) Act 1918 แม้จะยังมีข้อจำกัดด้านคุณสมบัติ
มากกว่าผู้ชายก็ตาม (Fawcett, 1920, p. 170 as cited in Women’s Suffrage in the United Kingdom:
Timeline, 2020)
สภาพทางสังคมยุควิคตอเรียที่เป็นเอกลักษณ์ประการหนึ่งปรากฏผ่านวัฒนธรรมการแต่งกายที่
สอดคล้องกับ พื ้น ฐานแนวคิ ดความเป็น หญิ งชาย โดยจะเน้นการแต่ง กายที่ ขับ เน้นสรีร ะของแต่ล ะเพศ
โดยเฉพาะในเพศหญิงที่การแต่งกายจะมีอุปกรณ์เสริมอวัยวะส่วนที่แสดงความเป็นเพศหญิงอย่างสะโพกแ ละ
บั ้ น ท้ า ยด้ ว ย tournure และ bustle รวมทั ้ ง ยั ง มี ว ั ฒ นธรรมการรั ด เอวให้ ค อดกิ ่ ว ด้ ว ย Boning corset
วัฒนธรรมการแต่งกายที่เน้นสัดส่วนความเป็นหญิงนี้ถูกยึดโยงเข้ากับศีลธรรมและจริยธรรมที่ผู้หญิงควรถือ
ครองคือหน้าที่และบทบาทของเพศหญิงในฐานะภรรยาและแม่ (Yen, 2014, p. 45-47)
ขณะเดียวกันยุควิคตอเรียยังเป็นยุคที่คาบเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปีค.ศ. 1760 ถึง ค.ศ.
1850 ในช่วงแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดการผลิตเครื่องจักรที่ช่วยทุ่นแรงงานทำให้สามารถผลิตสินค้า
เพื ่ อ การอุ ป โภคบริ โ ภคได้ ม ากขึ ้ น จึ ง เกิ ด ความต้ อ งการกระจายสิ น ค้ า เหล่ า นั ้ น มากขึ ้ น กอปรกั บ การ
เปลี่ยนแปลงรูปแบบการสมรสในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทำให้เกิดการขยายตัวของช่วงวัยเจริญพันธุ์และเกิดการ
สนับสนุนการมีลูกเพื่อเพิ่มประชากรรองรับสินค้าและบริการที่ผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเพิ่มแรงงาน
ป้อนเข้าไปในระบบโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น (ตุลย์ อิศรางกูร และภาวรรณ เรืองศิลป์ , 2562) ส่งผลให้ใน
ระยะต่อมาประชากรในอังกฤษและยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและแรงงานทำ
ให้เกิดการขยายตัวของสังคมเมืองและการอพยพเข้ามาแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจในเมืองหลวงอย่างกรุง
ลอนดอน ทำให้กลายเป็นเมืองที่มีประชากรแน่นหนา เกิดความแออัดในเขตสลัม และความแตกต่างระหว่าง
ชนชั้น ก็ป รากฏชั ดเจนมากขึ้ น (Human Population: Urbanization, 2009) ขณะที่ค วามก้ าวหน้ า ทาง
5

อุตสาหกรรม วิทยาการเทคโนโลยีก็ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ มีการวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)


ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การสาธารณสุข การประปา แก๊สหุงต้มในครัวเรือน ไฟฟ้า รวมทั้งมีการสร้าง
สถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่นสวนสาธารณะและสนามกีฬา อีกทั้งยังมีการสร้างสถานที่ราชการ เช่น สถานี
ตำรวจ เรือนจำ รวมทั้งโรงเรียนประจำอีกด้วย (Pucci, [n.d.])
การจัดตั้งโรงเรียนประจำอันเป็นผลเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นยังสอดคล้องกับค่านิยมที่
เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเช่นเดียวกันอย่างค่านิยมด้านการศึกษาและความรู้หนังสือของประชากร
ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า การขนส่งทางรถไฟ และโทรเลข (Aspects of the
Victorian Book: Introduction, [n.d.] as cited in Victorian Era: Reading culture, 2020) ที ่ ท ำให้ ก าร
ติดต่อส่งข้อมูลทำได้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งความนิยมแพร่หลายในสื่อสิ่งพิมพ์ก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุน
ค่านิยมการศึกษาและการอ่านในยุควิคตอเรีย โดยการศึกษาในยุคนี้มุ่งให้ความสำคัญกับทักษะทางการคิดที่
สอดคล้องกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และกระบวนแก้ปัญหาต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามการเลี้ยงดูปลูกฝัง
นิสัยรักการอ่านและการจัดการการศึกษาให้ลูกนั้นเป็นหน้าที่ของแม่ในแต่ละครอบครัว ซึ่งสอดคล้องสัมพันธ์
กับหน้าที่ของผู้หญิงในการอบรมเลี้ยงดูบุตรและการจัดการกิจการภายในบ้านตามแนวคิด Separate spheres
ที่ตอกย้ำให้เห็นถึงการแบ่งแยกหน้าที่ชายหญิงอย่างชัดเจน รวมทั้งยังบ่งชี้ถึงความเหนือกว่าของเพศชายและ
ยังสะท้อนสภาพสังคมที่ผู้ชายมีอำนาจมากกว่าหรือสังคมชายเป็นใหญ่ได้ตามบริบทของสังคมอังกฤษในยุค
วิคตอเรีย
สังคมชายเป็นใหญ่ในอังกฤษช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18
สภาวะชายเป็น ใหญ่ (Patriarchy) คือการที่เพศชายมีบทบาทนำในสังคม ทั้งในแง่ของการเมื อง
เศรษฐกิจ และครัวเรือน ลักษณะสังคมที่ผู้ชายขึ้นมามีบทบาทนำนี้อยู่ควบคู่กับสังคมยุโรปมาตั้งแต่สมั ยโบราณ
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความเชื่อในเรื่องของความแตกต่างทางร่างกายระหว่างเพศชายกับเพศหญิง โดยเชื่อกันว่า
เพศชายมาพร้อมกับความแข็งแรง ฉลาด กล้าหาญ และมุ่งมั่น ทั้งยังเป็นเพศที่มาพร้อมกับความรุนแรงและ
ความดื้อรั้น (Emsley, Hitchcock, & Shoemaker, [n.d.]) ลักษณะดังกล่าวของเพศชายที่สื่อให้เห็นถึงความ
แข็งแกร่งทำให้เชื่อกันว่าสมควรที่จะให้เพศชายขึ้นมามีบทบาทเป็นผู้นำในสังคม ตัวอย่างเช่น ในทางครอบครัว
เมื่อผู้ชายแต่งงาน สมบัติของภรรยาก็จะกลายไปเป็นของสามี รวมทั้งตัวภรรยาที่จะตกเป็นเหมือนสมบัติชิ้น
หนึ่งที่สามีจะต้องดูแลรักษา ผู้ชายจะมีสถานะเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องดูแลทั้งชีวิตและทรัพย์สินของลูกและ
ภรรยา ยิ่งไปกว่านั้น เพศสภาพยังยึดโยงเข้ากับการรับมรดกอีกด้วย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการใช้ระบบ
“สิทธิของบุตรคนแรก” (Primogeniture) กล่าวคือ มรดกที่เป็นทรัพย์สมบัติ รวมไปถึงที่ดินจะตกทอดสู่ลูก
ชายคนแรกของตระกูล หรือสมาชิกของตระกูลที่เป็นเพศชายในลำดับถัด ๆ มา (Jeffers, 2015) นอกจากนี้
เพศชายได้รับความไว้วางใจและมีความน่าเชื่อถือ (creditability) มากกว่าผู้หญิง ทั้งยังได้รับโอกาสทั้งในด้าน
การงานและการศึก ษามากกว่า ผู้ ห ญิ ง ทั้ งนี้ก็ส ืบเนื่ อ งมาจากแนวคิด แบบปิ ตาธิป ไตยที่ ผ ลั กดัน และให้
ความสำคัญกับการขึ้นมาอยู่ในบทบาทผู้นำของผู้ชายในหลาย ๆ ด้าน แนวคิดดังกล่าวยังส่งผลให้เกิดการ
6

แบ่งแยกพื้นที่ระหว่างเพศ (Separate spheres) อันมีนัยยะสำคัญถึงการแบ่งแยกหน้าที่ของเพศชายและเพศ


หญิงให้แยกขาดออกจากกัน ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น และยังเน้นย้ำให้เห็นถึงบทบาทของเพศหญิงที่ถูก
จำกัดบทบาทเอาไว้เพียงแค่ในครัวเรือน การจัดหาอาหาร การเลี้ยงลูก เนื่องมาจากการที่เพศหญิงถูกมองว่า
เป็นเพศที่บอบบางและอ่อนแอ จึงควรเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน อีกทั้งผู้หญิงจะไม่ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับ
ผู้ชาย และจะถูกตัดขาดจากทางการเมือง ดังนั้น สถานภาพและทางเลือกของผู้หญิงจึงมีแค่การเป็นภรรยาและ
แม่เท่านั้น เกิดเป็นค่านิยมที่ว่าผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงชนชั้นสูง (upper class) และชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง
(upper-middle class) จะต้องแต่งงานและมีลูก ในส่วนของผู้หญิงชนชั้นกลางก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากคน
กลุ่มนี้จะถูกบีบกลาย ๆ จากทั้งค่าจ้างในการทำงานที่จ่ายให้ผู้หญิงอย่างไม่เป็นธรรมและสภาพการทำงานที่ไม่
ถูกสุขอนามัยให้เลือกการแต่งงานเป็นทางออก เพื่อที่จะได้พึ่งพาผู้ชายในทางการเงิน (Cruea, 2009, p. 187)
การแต่งงานและใช้ชีวิตตามขนบในลักษณะนี้ถือเป็นการปฏิบัติตนตามผู้หญิงในอุดมคติ จนกระทั่งมีคำเรียก
และยกย่องผู้หญิงตามกรอบขนบนี้ว่า “True Woman”
คำว่า True Woman เป็นคำที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยใช้อธิบายลักษณะ
ของหญิงสาวในอุดมคติที่มีความนอบน้อมถ่อมตัว เคร่งครัดในศาสนา อุทิศตนเพื่อครอบครัว สามีและบ้าน
(White, 2009, p.17) และเป็นแนวคิดที่กล่าวว่าพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงมากที่สุดคือพื้นที่ ภายในบ้าน
เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าภายในบ้านนั้นเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกทางศีลธรรม อันเป็นคุณค่าหนึ่งที่ถูก
ผูกติดอยู่กับตัวผู้หญิง อีกทั้งผู้หญิงยังมีหน้าที่เป็นแม่และผู้ดูแลบ้าน (White, 2009, p.18) อีกทั้งยังมีความเชื่อ
ที่ว่าอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิงทำให้ร่างกายผู้หญิงมีความเปราะบางและมีระบบประสาทที่อ่อนไหว ดังนั้น เพื่อ
ความปลอดภัย ผู้หญิงจึงควรอยู่แต่ในบ้าน (White, 2009, p. 19-20) ความเชื่อในลักษณะนี้ส่งผลให้ผู้หญิงถูก
กีดกันออกจากพื้นที่นอกบ้านและการออกมาหางานทำ เพราะเชื่อกันว่าเป็นพื้นที่ในการประกอบกิจกรรมของ
ผู้ชาย อีกทั้งการทำงานยังเป็นหน้าที่ของผู้ชายเท่านั้น ดังนั้น เมื่อถูกจำกัดให้อยู่แต่ภายในบ้าน ผู้หญิงจึงไม่มี
ทางขึ้นมามีสถานะเทียบเท่ากับผู้ชายได้ ไม่ว่าจะในแง่เศรษฐกิจ การเมือง หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตประจำวัน
หลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการใช้คำว่า True Woman โดยทั่วไปในสังคม คือ การนำคำว่า “The
True Woman” มาตั้งเป็นหัวข้อวารสารรายปี ซึ่งวารสารดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ตั้งแต่ 1871 ถึง 1873 The
True Woman นั้นเป็นวารสารที่ถกเถียงกันในเรื่องของหน้าที่และกิจกรรมของผู้หญิงตามขนบอย่างที่ควรเป็น
วารสารดังกล่าวได้สนับสนุนให้ผู้หญิงอยู่แต่ในพื้นที่ของตัวเอง หรือก็คือพื้นที่ภายในบ้าน (White, 2009, p. 22)
แต่ในทางกลับกันก็สนับสนุนสิทธิของผู้หญิงในการเข้าสู่ตลาดแรงงานของระบบอุตสาหกรรม แต่ถึงแม้จะ
สนับสนุนสิทธิสตรีในการมีส่วนร่วมในระบบทางเศรษฐกิจ วารสาร The True Woman กลับคัดค้านการออก
เสียงในทางการเมืองของผู้หญิง คำว่า True Woman ยังปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ที่
เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ ทศวรรษ 1870 (White, 2009, p. 23) กระทั่งในช่วงปี 1890 คำว่า True Woman ได้
กลายไปเป็นคำที่บ่งบอกถึงลักษณะการแบ่งแยกระหว่างพื้นที่ของผู้หญิงและผู้ชาย รวมไปถึงลักษณะของ
ผู้หญิงในอุดมคติตามขนบไปโดยปริยาย ในขณะเดียวกัน คำว่า “New Woman” ก็ได้ค่อย ๆ เกิดขึ้น เมื่อ
7

ผู้หญิงได้รับสิทธิในการได้รับการจ้างงานและได้รับการศึกษามากขึ้น จนในเวลาต่อมา New Woman ได้กลาย


มาเป็นคำที่ใช้อธิบายถึงลักษณะของผู้หญิงที่แข็งแกร่ง มีชีวิตชีวา และพร้อมที่จะออกไปเผชิญโลกภายนอก
(White, 2009, p.23) อันเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับคำว่า True Woman ไปอย่างสิ้นเชิง กล่าวได้ว่า ในช่วง
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไอเดียของ ‘True Woman’ และ ‘Patriarchy’ นั้นเริ่มถูกท้าทายด้วยการถือกำเนิด
ขึ้นของกลุ่มผู้หญิงสมัยใหม่ หรือ “New Woman” ซึ่งเป็นลักษณะของผู้หญิงที่แหวกออกไปจากขนบ และไม่
เคยมีมาก่อนในสังคมยุโรป
New Woman
คำว่า New Woman เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเป็นคำที่ใช้อธิบายถึ งลักษณะของ
ผู้หญิงที่มีความคิดและความประพฤติแตกต่างออกไปจากผู้หญิงแบบวิคตอเรียน ลักษณะเด่นของกลุ่ม New
Woman คือ เป็นผู้หญิงที่รักอิสระ พึ่งพาตัวเองได้ มีความรู้และสติปัญญา แข็งแรง และกล้าหาญ ไม่หวาดกลัว
สิ่งใด (Representations of the True Woman and the New Woman in Harper’s Bazar, 2009, p. 23
as cited in Matthews, 2003) ซึ่งจะต่างจากลักษณะผู้หญิงในยุควิคตอเรีย หรือที่เรียกว่า True Woman
ไปโดยสิ้นเชิง ผู้หญิงกลุ่มนี้จะแทบไม่สนใจในการแต่งงานหรือมีลูกเลย ทั้งยังชื่นชอบที่จะออกมาทำกิจกรรม
นอกบ้าน อาทิ เล่นกีฬา ปั่นจักรยาน หรือออกมาหางานทำ เป็นต้น (White, 2009, p. 24)
การเกิดขึ้นของ New Woman นั้น ส่วนสำคัญเป็นผลมาจากการได้รับการศึกษาที่มากขึ้นของผู้หญิง
ในสมัยวิคตอเรีย การศึกษาของผู้หญิงมักเป็นไปเพื่อทำตนให้สมกับเป็นกุลสตรีที่มีความสามารถในการจัดการ
สิ่งต่าง ๆ ภายในบ้านได้ และเพื่อให้ตนได้มีสถานะที่คู่ควรกับผู้ชายที่ดี มีการศึกษา (Cruea, 2005, p.192) แต่
ในขณะเดียวกัน การศึกษาก็ทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นสามารถเอาตัวรอดได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการแต่งงานกับผู้ชาย
เพื่อความอยู่รอดทางการเงินอีกต่อไป ค่านิยมของการศึกษาทำให้เ กิดอัตราของผู้หญิงที่ออกมาหางานทำนอก
บ้านเพิ่มมากขึ้น อาชีพของผู้หญิงในระยะแรกจะมีเพียงอาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานบ้าน เช่น ทำสวน ทำอาหาร
เป็นต้น ภายหลังอาชีพที่ผู้หญิงสามารถทำได้ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้หญิงสาวในชนชั้นกลางออกมาหา
งานทำมากขึ้น (Cruea, 2005, p. 193) แม้ว่าในระยะแรก ผู้หญิงจะยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบจากการได้รับ
ค่าจ้างที่น้อยกว่าผู้ชายและการถูกใช้งานหนักจนเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ผู้หญิงก็ยังคงเข้ามา
มีส่วนร่วมในพื้นที่นอกบ้านและออกมาหางานทำเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาชีพที่ผู้หญิงนิยมประกอบกัน ได้แก่
อาชีพครูและพยาบาล ทั้งนี้เป็นเพราะผู้หญิงมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็ก การสั่งสอนอบรมลูก การ
ดูแลผู้คน โดยเฉพาะคนป่วยมาตั้งแต่สมัยก่อน (Cruea, 2005, p. 194) เมื่อผู้หญิงเริ่มพึ่งพาตัวเองได้ ความ
นิยมในการแต่งงานมีลูกจึงลดลงตามไปด้ว ย และพื้นที่สาธารณะที่เดิมทีถูกจำกัดไว้ให้เฉพาะผู้ชายก็เริ่มเต็มไป
ด้วยผู้หญิงที่ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น
การที่ผู้หญิงออกมาครอบครองพื้นที่สาธารณะซึ่งเดิมทีเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมของผู้ชายนั้นถือ
เป็นการท้าทายลักษณะสังคมแบบจารีตที่มีมาตั้งแต่สมั ยโบราณ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงเหล่านี้ได้ใช้ประโยชน์
8

จากการออกมาเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมการกุศล รวมไปถึงเข้าร่วมกิจกรรมที่ทำประโยชน์ต่อ


สังคม เพื่อให้ตัวเองได้มีพื้นที่นอกบ้านและโอกาสในการหางานมากขึ้น ประโยชน์ที่ผู้หญิงได้รับจากการทำ
กิจกรรมในลักษณะนี้ ยังส่งไปถึงอำนาจภายในบ้านของผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติตนเป็นผู้
เคร่งครัดในศีลธรรมและศาสนา ทำให้ผู้หญิงที่ถูกจำกัดไว้ว่าด้อยกว่าผู้ชายนั้นมีความ ‘เหนือกว่าทางศีลธรรม’
เมื่ออยู่ภายในบ้าน (Cruea, 2005, p. 195-196)
ความเหนือกว่าทางศีลธรรมประกอบกับวัฒนธรรมการพิมพ์ที่แพร่หลายยังส่งผลให้ผู้หญิงหลายคน
ได้รับโอกาสในการทำอาชีพที่สำคัญมากยิ่งขึ้น เช่น อาชีพนักเขียน มีการเผยแพร่งานพิมพ์หลายชิ้น ซึ่งล้วนแต่
เป็นงานที่เขียนขึ้นเพื่อถกเถียงกันในเรื่องหน้าที่ของผู้หญิง คุณค่าของผู้หญิง ทั้งยังสนับสนุน ให้ผู้หญิงตระหนัก
ในเสียงและสิทธิของตนเองท่ามกลางสังคมชายเป็นใหญ่ที่กดทับเพศหญิงอยู่ในสมัยนั้น งานเขียน รวมไปถึงนว
นิยายที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงยังช่วยเปิดมุมมองให้ผู้หญิงได้มองโลกในมุมที่ต่างออกไป (Cruea, 2005, p. 196)
นอกจากการเขียนงานพิมพ์เพื่อสนับสนุนสิทธิ สตรีแล้ว นักเขียนบางคนยังมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อให้
ผู้หญิงได้มีพื้นที่ในสังคมมากขึ้นผ่านการจัดตั้งกลุ่มที่สมาชิกจะมาพบปะกันเพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรื่องราว
เกี่ยวกับเสียงและสิทธิของผู้หญิงอีกด้วย (Cruea, 2005, p. 197)
การเคลื่อนไหวของ New Woman ยังส่งผลไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันของผู้หญิง โดยเฉพาะการทำ
กิจกรรมนอกบ้าน ผู้หญิงออกมามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกีฬามากขึ้น เช่น ปีนเขา เล่นเทนนิส ว่ายน้ำ หรือ
ปั่นจักรยาน เป็นต้น (White, 2009, p. 26) การปั่นจักรยานของผู้หญิงนั้นยังมีส่วนช่วยในการสร้างภาพลักษณ์
ของผู้หญิงสมัยใหม่ เนื่องจากการปั่นจักรยานในชุดกระโปรงแบบผู้หญิงนั้นทำได้ยากมาก และยังต้องนั่งในท่าที่
เป็นท่าทางแบบผู้ชาย ภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ปั่นจักรยานจึงดูเป็นผู้หญิงที่มีความแน่วแน่ แข็งแกร่ ง มั่นคง
พึ่งพาตัวเองได้ สามารถจะไปที่ใดก็ได้ตามที่ต้องการ การปั่นจักรยานยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงเรื่องของเสื้อผ้า
เครื่องแต่งกายที่เปลี่ยนแปลงไป (Gray, Peteu, 2005, p. 27-42) เสื้อผ้าที่เกิดขึ้นในช่วงการเคลื่อนไหวของ
New Woman นั้นมีความทะมัดทะแมงมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงสามารถประกอบกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้
อย่างสะดวก มีการออกแบบเสื้อเชิ้ตสำหรับผู้หญิง กระโปรงที่ไม่แคบ ไม่กว้าง และไม่ยาวเกินไป ซึ่งจะทำให้
เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก รวมไปถึงการออกแบบเสื้อผ้าที่มีน้ำหนักเบาเพื่อให้สวมใส่ได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น
(White, 2009, p. 30-31)
จะเห็นได้ว่าการพัฒนาการของ New Woman นั้นมีความเป็นไปอย่างเชื่องช้า ไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่
เกิดขึ้นโดยฉับพลัน และการเคลื่อนไหวของ New Woman นั้นก็มีจุดประสงค์หลักคือเพื่อให้ผู้หญิงสามารถ
ก้าวออกจากกรอบของผู้หญิงตามแบบฉบับจารีตที่ถูกตีขึ้นได้ เพื่อที่จะมอบอิสระคืนให้แก่ผู้หญิง ทั้งยังผลักดัน
และเปิดให้ผู้หญิงได้รับโอกาสต่าง ๆ จากสังคมมากขึ้น เช่น โอกาสที่จะได้เข้ารับการศึกษาในระดับที่เทียบเท่า
กับผู้ชาย โอกาสที่จะได้รับการจ้างงาน โอกาสในทางการเงิน รวมไปถึงสิทธิในการออกเสียงทางการเมือง
(Cruea, 2005, p. 199) ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของกลุ่ม New Woman คือเป็นผู้หญิงที่ไม่จำเป็นต้อง
พึ่งพาอำนาจของผู้ชายอีกต่อไป ในทางตรงข้าม กลับกระตือรือร้นที่จะออกไปค้นหาและเติมเต็มความต้องการ
9

ของตนเองด้วยตนเอง กลุ่ม New Woman ยังมีมุมมองว่าลักษณะทางเพศไม่ควรจะถูกนำมาข้อ งเกี่ยวกับ


ความน่าเชื่อถือและการได้รับยอมรับจากสังคม อีกทั้งกิจกรรมทางเพศของผู้หญิงยังไม่ควรถูกนำมาลดทอน
คุณค่าและชื่อเสียงของผู้หญิงโดยสังคม (Cruea, 2005, p. 201) ซึ่งความคิดและมุมมองในลักษณะนี้นับว่าเป็น
สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนเลยในสังคมยุโรปตราบจนถึงช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อย่างไรก็ตาม ไม่อาจกล่าวได้
ว่าขบวนการ New Woman จะครอบคลุมและนำเสนอผู้หญิงจากทุกชนชั้น เนื่องจากความแตกต่างทางฐานะ
ทางเศรษฐกิจ สังคม และอำนาจในบริบทร่วมสมัยก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อทัศนคติของผู้หญิงตามแต่ละชน
ชั้นและส่งผลต่อการเข้าร่วมขบวนการ New Woman ด้วยเช่นกัน
ชนชั้นกับขบวนการ New Woman
ในช่ว งคริส ต์ ศ ตวรรษที่ 18 ถึง 19 ซึ่งเป็นช่ว งที ่เ กิด การปฏิว ัต ิ อุ ตสาหกรรมขึ ้น ลัทธิทุน นิ ย ม
(Capitalism) ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมยุโรป ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรม
ความแออัด ความขัดแย้งและช่องว่างระหว่างชนชั้นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แม้การปฏิวัติอุตสาหกรรมจะ
เพิ่มความต้องการตำแหน่งหน้าที่การงานในสังคม แต่ตำแหน่งงานเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งงานที่ต้องใช้
แรงงานมาก มีระยะเวลาในการทำงานที่ยาวนานและมีข้อจำกัดสูง สวนทางกับรายได้ที่ต่ำ ในขณะเดียวกัน
กลับเอื้อให้กลุ่มชนชั้นสูงเช่นขุนนางและกลุ่มนายทุนที่เป็นผู้ประกอบการได้รับผลประโยชน์จากการทำ
อุตสาหกรรมเช่นนี้ (ตุลย์ อิศรางกูร และภาวรรณ เรืองศิลป์, 2562)
การปฏิวัติอุตสาหกรรมยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน
และระบบเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีการฉกฉวยโอกาสจากแรงงานเพศหญิงและแรงงานเด็กโดย
การกดค่าตอบแทนให้ต่ำกว่าแรงงานผู้ชาย (Burnette, [n.d.]) จะเห็นได้ว่า แม้จะมีงานที่ผู้หญิงสามารถ
ออกมาทำเพื่อหาเงินได้ แต่ก็ยังต้องพบเจอกับการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ก็เป็นผลอันเนื่องมาจากความ
เชื่อที่ขัดแย้ งกัน เองในสั งคมที่ ต้ อ งการแรงงานในภาคอุ ตสาหกรรมมากขึ ้น แต่ในขณะเดียวกั น กรอบ
แนวความคิดตามจารีตที่ว่าผู้หญิงไม่ควรออกมาทำงานนอกบ้านเพราะเป็นหน้าที่หลักของผู้ชายก็ยังคงอยู่
กอปรกับความกลัวที่ว่าแรงงานเพศหญิงจะมาแย่งตำแหน่งและบทบาทในการทำงานของเพศชาย อันจะทำให้
สังคมเกิดความไม่เป็นระเบียบ นำไปสู่การแบ่งแยกและกีดกันทางเพศ รวมไปถึงการกดราคาค่าจ้างแรงงาน
เพื่อบีบให้เพศหญิงออกจากตลาดแรงงานไป ดังนั้น การแต่งงานและพึ่งพาผู้ชายจึงเป็นตัวเลือกเดียวที่จะทำให้
ชีวิตของผู้หญิงสุ ขสบายได้ ดังที่ Smith-Rosenburg กล่าวไว้ว่า “Low wages, the absence of upward
mobility, depressing and unhealthy working conditions, all made marriage an attractive survival
strategy for working-class women”
ผู้หญิงชนชั้นแรงงานที่ถูกบังคับให้เข้าสู่ตลาดแรงงานมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นอุปสรรคเนื่องจากมี
รายได้ต่ำจากการกดค่าจ้างดังกล่าว อีกทั้งปัจจัยทางสภาพการทำงานที่เข้มงวดและยาวนานก็ยิ่งบั่นทอนกำลัง
และเวลาของผู้หญิงชนชั้นแรงงานจนเหลือเวลาว่างในการแสวงหาโอกาสในการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ น้อยหรือ
10

แทบไม่มีเลย ทั้งยังมีโอกาสน้อยกว่าชนชั้นอื่น ๆ ที่จะได้รับการศึกษาเพื่อพัฒนาไปสู่แนวคิดการตระหนักถึง


สิ ท ธิ ส ตรี แ ละเข้ า ร่ ว มขบวนการ New Woman (Rich, 2009, p. 4 as cited in New Woman: Class
differences, 2020)
ขณะเดียวกัน ผู้หญิงชนชั้นสูงเป็นชนชั้นที่ได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและ
ระบบอุตสาหกรรมนี้ โดยเป็นกลุ่มชนชั้นที่ไม่ต้องเข้าสู่สังคมแรงงานและยังคงรักษาพื้นที่ของตัวเองไว้ในเขต
บ้านหรือ Domestic sphere เช่นเดิม แม้จะมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษามากกว่าชนชั้นอื่น และแม้จะเป็น
เพศที่ได้รับผลกระทบจากสังคมปิตาธิปไตยเช่นเดียวกันกับผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง ทว่ากลับเป็นฝ่าย
ที่ต้องการอนุรักษ์ค่านิยมเพื่อคงสถานะความเป็นชนชั้นนำ คงความเป็นผู้หญิงชนชั้นสูงตามแบบขนบจารีต นี้
ต่อไป เพราะมองว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นสุขสบายดีอยู่แล้วจึงไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือเรียกร้องสิทธิสตรี
หรือแม้แต่กระทั่งการเรียกร้องเพื่อสิทธิด้านสังคมและการเมืองอื่น ๆ เช่น สิทธิในการเลือกตั้งของประชาชนชน
ชั้นอื่นหรือของผู้หญิงเองก็ตาม เพราะมองว่าหากสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีใด ๆ จะนำไปสู่
กลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องอื่น ๆ ที่จะมากระทบต่อสถานะชนชั้นนำของตนได้ (Maguire, 1998, p. 49-50)
ความคิดและการกระทำดังกล่าวถือเป็นลักษณะร่วมของกลุ่มชนชั้นสูงในยุคร่วมสมัยที่ไม่ต้องการทำลายหรือ
เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมที่เอื้อประโยชน์และอำนาจให้กลุ่มของตนเอง
ขณะเดียวกัน ผู้หญิงชนชั้นกลางที่ไม่มีความขัดสนและข้อจำกัดทางฐานะมากเท่าผู้หญิงชนชั้นล่างนั้น
ได้รับการศึกษาและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ รวมทั้งเวลาในการแสวงหาความสุขมิติอื่นในชีวิต
นอกเหนือจากการทำงานเพื่อหาเงินมาจุนเจือตนเองและครอบครัว แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างสุข
สบายจนมองไม่เห็นหรือเพิกเฉยต่อปัญหาสิทธิสตรีในสังคมปิตาธิปไตยอย่างผู้หญิงชนชั้นสูง ทำให้ผู้หญิงชนชั้น
กลางเป็นชนชั้นที่พอจะมีทั้งทรัพยากรเงินและเวลา รวมทั้งมีองค์ความรู้ที่จะส่งผลต่อทัศนคติและการตระหนัก
รู้ถึงสิทธิสตรีและโครงสร้างสังคมปิตาธิปไตยที่กดทับอยู่ จนพัฒนากลายเป็นกำลังสำคัญในขบวนการ New
Woman ในยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าสภาพสังคมปิตาธิปไตย ค่านิยมการแบ่งบทบาทและหน้าที่ระหว่าง
ชายและหญิงที่ชัดเจน รวมทั้งพลวัตทางประวัติศาสตร์และการพัฒนาทัศนคติของผู้หญิง New Woman ในยุค
วิคตอเรียช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี้สามารถเชื่อมโยงกับสภาพสังคม ค่านิยม และทัศนคติของตัวละคร
ในวรรณกรรมและภาพยนตร์เรื่อง Enola Holmes ได้ และสามารถทำให้เข้าใจการกระทำและการแสดงออก
และการสื่อความหมายต่าง ๆ ในตัวบทเรื่องนี้ได้ ทั้งยังทำให้เห็นถึงประเด็นการเรียกร้องสิทธิสตรี และบทบาท
ของผู้หญิงในการแสดงออกทางการเมืองที่ย้อนแย้งกับความต้องการนำเสนอภาพตัวละครหญิงที่เป็นตัวละคร
หลักของทั้งผู้ประพันธ์ตัวบทวรรณกรรมและผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
11

ขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีกับวรรณกรรมและภาพยนตร์ดัดแปลงเรื่องเอโนลา โฮล์มส์
จากการศึกษาวรรณกรรมและภาพยนตร์ดัดแปลงเรื่องเอโนลา โฮล์มส์พบว่า การนำเสนอภาพลักษณ์
ของตัวละครเอกอย่างเอโนลาตั้งอยู่บนฐานของความเป็นผู้ห ญิงแบบ New Woman คือ ไม่ใช่ผู้หญิงที่มี
ลักษณะนอบน้อมถ่อมตัว ใส่ใจการบ้านการเรือน และแต่งกายตามแบบขนบของผู้หญิงในยุคนั้น หรือเรียกได้
ว่ามีลักษณะตรงกันข้ามกับผู้หญิงที่มีความเป็น True Woman อย่างสิ้นเชิง โดยจะเห็นได้จากทัศนคติของเอ
โนลาต่อวัฒนธรรมการแต่งกายตามค่านิยมของผู้หญิงในฉากการบรรยายชุดของผู้หญิงในมุมมองของเธอว่า
“ This device was duly ordered, and the seamstress began to produce prim, dim-coloured
dresses with high whalebone-ribbed collars to strangle me, waistbands designed to choke my
breathing, and skirts which, spread over half a dozen flounced silk petticoats, trailed on the
floor so that I could barely walk” (Springer, 2006, p. 85) ข้อความนี้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติต่อชุดที่สังคม
มองว่าดีงามและทรงคุณค่าคู่กับสตรีเพศนั้น เอโนลากลับมองว่าเป็นชุดที่สร้างความลำบากให้กับเธอ และจาก
ทัศนคตินี้ของเอโนลาก็อาจทำให้มองได้ว่าเสื้อผ้าตามค่านิยมนั้นเทียบได้กับกรอบของสังคมปิตาธิปไตยที่เธอ
มองว่าบีบรัดเธออยู่และเป็นสิ่งที่ขัดขวางการดำเนินชีวิตของเธออย่างการหายใจหรือการเดิน
ลักษณะนิสัยของเอโนลาที่ขัดจากค่านิยมของเด็กผู้หญิงในสมัยนั้นปรากฏให้เห็นอีกในลักษณะของ
การไม่ชอบเล่นตุ๊กตา ซึ่งตุ๊กตาเป็นสิ่งที่ถูกยึดโยงกับความเป็นเด็กผู้หญิงตามความคิดแบบสังคมจารีต โดย
ลักษณะประการนี้ปรากฏให้เห็นได้จากบทบรรยายผ่านมุมมองของเอโนลาในตัวเล่มหน้า 77 ที่ว่า “Girls are
supposed to play with the dolls. Over the years, well-meaning adults had provided me with
various dolls. I detested dolls, pulling their heads off when I could…” แสดงให้เห็นถึงการที่เอโน
ลาปฏิเสธจะทำตามเด็กผู้หญิงทั่วไป และยังปฏิเสธที่จะเล่นตุ๊กตาตามอย่างที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นชอบว่า
เป็นเช่นนั้น อีกทั้งเอโนลายังใช้ประโยชน์จากตุ๊กตาในทางอื่นที่ไม่ใช่การเล่นเพื่อความเพลิดเพลินแต่เป็นการ
ซ่อนกุญแจห้องของแม่เธอที่จะนำไปสู่การออกตามหาแม่หรือการออกนอกพื้นที่บ้านของเธอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึง
ความไม่ยึดถือคุณค่าตามขนบ True Woman ของเอโนลาอย่างเห็นได้ชัด
การนำเสนอลักษณะของเอโนลาที่ขัดกับคุณค่าของเป็นผู้หญิงในยุคยังถูกนำเสนอผ่านการไม่สนใจ
กิจการในครัวเรือนอย่างการเย็บปักถักร้อย การร้อยเปลือกหอย แต่เอโนลากลับมีความส ามารถในการปั่น
จักรยานซึ่งถือเป็นกิจกรรมนอกบ้าน และเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกถึงความแน่วแน่ มั่นคง ไม่พึ่งพาใคร
และรักอิสระของผู้หญิง อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ อีกทั้งการปั่นจักรยานมักไม่ค่อยได้รับความนิยมในหมู่
ผู้หญิงนักเนื่องจากชุดกระโปรงที่สวมใส่ แต่ เอโนลามักจะเปลี่ยนไปสวมใส่ knickerbockers ซึ่งเป็นชุดที่
ทะมัดทะแมงและเหมาะกับการปั่นจักรยานมากกว่า ในตัวบทฉบับวรรณกรรม การปั่นจักรยานยังเป็นวิธีที่เอ
โนลาใช้หลบหนีจากเส้นทางไปสู่โรงเรียนประจำที่ไมครอฟท์ต้องการให้เธอเข้าเรียนได้ และในฉบับภาพยนตร์
เธอยังปั่นจักรยานไปจนถึงพื้นที่ใกล้เคียงสถานีรถไฟเพื่อจะขึ้นรถไฟไปยังลอนดอนเพื่อตามหาแม่ของเธอได้
สำเร็จ จึงกล่าวได้ว่าจักรยานมีความสำคัญทั้งการเป็นกิจกรรมนอกบ้านซึ่งไม่ใช้พื้นที่ที่ผู้หญิงตามขนบควรอยู่
12

และยังเป็นวิธีการที่ทำให้เอโนลาหลุดพ้นจากกรอบของการบังคับของพี่ชายอย่างไมครอฟท์และสามารถทำ
ตามความต้องการของเธอในการตามหาแม่ได้
ลักษณะความเป็นผู้หญิงที่ขัดกับคติ True Woman ของเอโนลาเห็นได้ชัดว่าเป็นผลมาจากการเลี้ยงดู
ของแม่ แม่ของเอโนลาให้การศึกษาเอโนลาด้วยตัวของเธอเอง และไม่ได้ให้เอโนลาเข้าศึกษาในโรงเรียนประจำ
หรือโรงเรียนการเรือนเพื่อหญิงสาวที่จะปลูกฝังและถ่ายทอดคติค่านิยมความเป็นผู้หญิงที่เมื่อจบการศึกษาจะ
กลายเป็นผู้หญิงที่ได้รับการอบรมเพื่อทำหน้าที่ในฐานะภรรยาและแม่ต่อไป แม่ของเอโนลาปลูกฝังให้เอโนลามี
นิสัยรักการอ่าน โดยให้เอโนลาอ่านหนังสือทุกเล่มที่มีในห้องสมุด พาเธอทำการทดลองวิทยาศาสตร์ และ
สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และยังสอนให้เอโนลาเล่นถอดรหัสคำ (ciphers) อีกด้วย (Bradbeer, 2020, 0:01:00)
การที่แม่มีบทบาทในการดูแลการศึกษาและการอ่านของเอโนลาสามารถพิจารณาได้ว่าเป็นอิทธิพลของการที่
ผู ้ ห ญิ ง ในช่ ว งนั ้ น มี แ นวคิ ด ที ่ ใ ห้ ค วามสำคั ญ กั บ การเป็ น “ devoted mother and knowledgeable
homemaker” (Symes, 1995, p. 26) อั น เป็ น ผลสื บ เนื ่ อ งมาจากยุ ค สมั ย แห่ ง แสงสว่ า งทางปั ญ ญา
(Enlightenment) ที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับสถานภาพของบุคคลผ่านอัตราการรู้หนังสือ (Woman
and the enlightenment, 1987, p. 251-278 as cited in Symes, 1995, p. 25) ในกรณีของผู้หญิงที่หน้าที่
ถูกผูกติดอยู่กับครัวเรือนและพื้นที่ภายในบ้านจึงได้เกิดแนวคิดที่ผู้ หญิงและแม่ควรจะเป็นผู้สอนหนังสือให้แก่
ลูก (Symes, 1995, p. 25) ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งที่ก่อให้เกิดความนิยมในการสนับสนุนให้ผู้หญิงได้รับการศึกษา
ที่มากขึ้นเทียบเท่าผู้ชายในเวลาต่อมา
คำอบรมสั่งสอนอีกประการหนึ่งที่แม่ของเอโนลามักจะกล่าวแก่เอโนลาเสมอว่า “You will do very
well on your own, Enola,” (Springer, 2006, p. 5) และคำกล่าวในฉบับภาพยนตร์ที่ว่า “อย่าให้ใครผลัก
ออกนอกทาง โดยเฉพาะพวกผู้ชาย” (Bradbeer, 2020, 0:25:50) รวมไปถึงประโยคที่ว่า “มีทางเดินสองทางที่
ลูกเลือกเดินได้ เอโนลา ทางเดินของลูกเอง และทางที่คนอื่นเลือกให้ลูกเดิน” (Bradbeer, 2020, 0:20:19)
แสดงให้เห็นถึงความเป็น independent woman ของแม่ของเอโนลาผ่านความคิดที่สวนกระแสกับค่านิยม
ที่ว่าผู้หญิงต้องพึ่งพาและต้องแต่งงานกับผู้ชาย แทนที่จะสอนให้เข้าหาผู้ชาย แม่ของเอโนลากลับสอนให้ผลัก
ผู้ชายออกไปจากเส้นทาง ทั้งยังสอนให้เอโนลาพึ่งพาตนเองและเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง แสดงถึงลักษณะ
นิสัยของแม่ของเอโนลาที่แตกต่างจากนิสัยของผู้ห ญิงในยุคร่วมสมัยที่ถูกตีกรอบไว้ ตรงกันกับที่ Enola
บรรยายไว้ว่าแม่มีความเป็น “free thinker” (Springer, 2006, p. 21) ประเด็นนี้สามารถวิเคราะห์ผ่านบริบท
ทางสังคมในยุคนั้นซึ่งเป็นช่วงแรกเริ่มของการเกิดขึ้นของผู้หญิงยุคใหม่หรือ New Woman ได้ว่าแม่ของเอโน
ลาก็มีลักษณะของความเป็นผู้หญิงหัวสมัยใหม่ ที่ไม่ถ่ายทอดคติและกรอบสังคมที่ครอบงำความเป็นผู้หญิงไว้
ให้แก่เอโนลา โดยการอบรมเอโนลาให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งเพศชายไม่ว่าจะเป็นในฐานะแม่
หรือภรรยา และไม่ต้องการให้เอโนลายอมจำนนต่อสภาวะชายเป็นใหญ่ในสังคม ซึ่งลักษณะดังกล่าวของแม่เอ
โนลานี้ถือได้ว่าเป็นลักษณะของ New Woman ที่จะส่งอิทธิพลต่อทัศนคติและการกระทำของเอโนลาต่อไป
13

ความเป็น New Woman ของเอโนลาและแม่ของเอโนลายังแสดงออกผ่านท่าทีที่แสดงความต่อต้าน


สังคมปิตาธิปไตย ซึ่งปรากฏในกฎหมายการสืบทอดมรกดโดยกำหนดให้ญาติฝ่ายชายเท่านั้นที่จะเป็นผู้มีสิทธิ
สืบทอด นับตั้งแต่เหตุการณ์ร ะหว่างแม่กับไมครอฟท์ที่ว่า “As I am the first born son, the estate is
mine,” he went on “and Mother did not dispute that, but she could not seem to see why she
should not manage things for me… When Sherlock and I reminded her that, legally, she had
no right even to live here unless I permitted it, she became quite irrational and made it clear
that we were no longer welcome in our own birthplace” (Springer, 2006, p. 48) และการที่เอโน
ลาได้อธิบายถึงความไม่ยุติธรรมของกฎหมายมรดกเอาไว้ว่า “Mom had explained to me how unfair
the laws were. If a woman laboured to write and publish a book, for instance, any money it
earned was supposed to go to her husband. How absurd was that?” (Springer, 2006, p. 82)
ลักษณะความเป็น New Woman ของแม่เอโนลาที่เห็นได้ชัดอีกประการคือจากการที่แม่ของเอโนลา
ส่งจดหมายไปขอเพิ่มจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในบ้านเป็นระยะ ๆ โดยอ้างว่าเพื่อจ้างคุณครูสอนเอโนลาและเพื่อ
นำมาจับจ่ายใช้ส อยการดูแลบ้านต่าง ๆ ดังที่ไมครอฟท์กล่าวว่า “She wrote me a very businesslike
letter requesting an increase. I replied by asking for an accounting of how the money was
being spent, and she complied. Her continuing requests for additional funds seemed so
reasonable that I never refused any of them” (Springer, 2006, p. 49) แต่เมื่อไมครอฟท์และเชอร์
ล็อกเดินทางมาถึงกลับพบว่ารายการที่แม่ชี้แจงว่าจะนำเงินที่ขอเพิ่มมาใช้จ่ายในส่วนนั้นกลับไม่เป็นความจริง
เลย ประเด็นนี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการกำลังทางทุนทรัพย์ ซึ่งในการเลี้ยงดูเอโนลาอาจไม่จำเป็นต้องใช้เงิน
มากเท่าตามที่ขอ ประเด็นนี้สามารถเชื่อมโยงได้กับฉากในตัวบทภาพยนตร์ที่เอโนลาเจอระเบิดและดินปืน ซึ่ง
ถูกเก็บอย่างลับ ๆ ในโรงเก็บอาวุธในเขตสลัมของกรุงลอนดอน โดยสามารถอนุมานจากเหตุการณ์นี้ได้ว่า แม่
ของเอโนลาเป็นสมาชิกในกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรีซึ่งจำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์ในการกำเนินกิจการภายในกลุ่ม
หรืออาจเป็นถึงสมาชิกของกลุ่ม Militant suffragettes ที่มักก่อการจลาจลเพื่อเรียกร้องความสนใจจากรัฐบาล
เพื่อให้รัฐรับฟังข้อเรียกร้องที่กลุ่ม Suffragettes หรือกลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิสตรีนี้ต้องการ อีกทั้งยังสอดคล้องกับ
ความสามารถในการต่อสู้ของแม่เอโนลา ซึ่งการที่ผู้หญิงในยุคนั้นจะมีความรู้และทักษะในการต่อสู้อาจเป็นเรื่อง
ที่เป็นไปได้ยาก หากไม่ใช่กลุ่มคนที่ฝึกฝนอยู่เป็นประจำ อีกทั้งแม่ของเอโนลายังได้ถ่ายทอดทักษะการต่อสู้นี้ให้
เอโนลาอีกด้วย
ทักษะการต่อสู้ที่เอโนลาได้รับการถ่ายทอดจากแม่ถือเป็นลักษณะพิเศษประการหนึ่งที่ส่งเสริมความ
เป็น New Woman ในตัวเอโนลาได้คือ ในฉบับวรรณกรรม ฉากที่เอโนลาสามารถต่อสู้และหลบหนีจากการ
จับกุมของ Cutter และ Squeaky โดยใช้ชิ้นส่วนหนึ่งของ corset ตัดเชือกที่มัดแขนเธอไว้และสามารถช่วยให้
ทิวส์เบอรีหลบหนีไปพร้อมกันได้นั้น (Springer, 2006, p. 162-167) สามารถตีความได้ว่า ชิ้นส่วนของ corset
ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของชุดของผู้หญิงเป็นสัญลักษณ์ของกรอบคุณค่าของผู้หญิงในสังคมปิตาธิปไตยที่เอโนลา
14

อาศัยอยู่ เธอได้เลือกที่จะใช้ชิ้นส่วนนั้นตัดเชือกที่เป็นพันธนาการจองจำเธอไว้และสามารถหลบหนีจากผู้ร้ายที่
เป็นผู้ชายทั้ง 2 คนได้ในที่สุด สะท้อนให้เห็นว่าเอโนลาไม่ยอมจำนนต่อระบบปิตาธิปไตยและกรอบของคุณค่า
ของความเป็นผู้หญิงที่สังคมผูกมัด แต่เธอเลือกใช้ช่องว่างจากระบบนี้ในการแสวงหาตัวตนของเธอและทำให้ตัว
เธอหลุดพ้นจากมายาคติทางเพศได้ในที่สุด
ความสามารถในการต่อสู้ของเอโนลายังปรากฏในฉากที่เอโนลาต่อสู้กับนักฆ่าที่ถูกส่งมาฆ่าทิวส์เบอรี
ในเขตสลัมและเธอก็สามารถใช้ทักษะยิวยิตสูที่แม่ของเธอฝึกฝนเธอมาตลอดตั้งแต่เล็กจนสามารถเอาชีวิตรอด
ไปได้ อีกทั้งในตอนท้ายที่เอโนลาต่อสู้กับนักฆ่าคนเดิมเพื่อปกป้องทิวส์เบอรีแสดงถึงความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว
ไม่กลัวอันตราย เป็นการสะท้อนบทบาทของผู้หญิงที่ไม่อ่อนแอ ไม่ใช่ฝ่ายที่ยอมจำนนต่อเหตุการณ์ใด ๆ หรือ
เป็นฝ่ายรอคอยความช่วยเหลือจากเพศชาย ซึ่งมักจะเป็นบทบาทของผู้หญิงที่ปรากฏในวรรณกรรมคลาสสิค
จนเกิดเป็นวลีที่ว่า ‘damsel in distress’ ที่ยึดโยงคุณค่าของผู้หญิงกับความเป็นช้างเท้าหลั งหรือเป็นบทบาท
รองที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากเพศชายเท่านั้น ลักษณะประการนี้ของเอโนลายังสามารถพบได้จากความ
พยายามสอดแทรกการสลับบทบาททางเพศตามขนบระหว่างเอโนลาและทิวส์เบอรีในตัวบทภาพยนตร์ ดังเช่น
ในฉากที่ทั้งคู่ต้องหาที่พักแรมกลางทุ่งหญ้าโดยไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือใด ๆ เอโนลาสามารถลับมีดและก่อไฟเพื่อ
สร้างความอบอุ่นได้ ในขณะที่ทิวส์เบอรีที่มีความรู้ด้านสมุนไพรและดอกไม้ก็สามารถบอกได้ว่าต้นหญ้าหรือเห็ด
ชนิดใดสามารถกินได้ ลักษณะประการนี้อาจพิจารณาได้ว่าทั้งกิจการเกี่ยวกับอาหารและดอกไม้เป็นสิ่งที่ถูกยึด
โยงกับความเป็นหญิงมาโดยตลอด แต่ทิวส์เบอรีกลับมีลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการนำเสนอบทบาททางเพศที่
พลิกจากขนบได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเมื่อทั้งคู่ถามอีกฝ่ายว่าใครเป็นฝ่ายสอนให้จุดไฟและสอนเรื่องสมุนไพรและ
ดอกไม้ เอโนลาที่ตอบว่าแม่และทิวส์เบอรีที่ตอบว่าพ่อ (Bradbeer, 2020, 0:32:20) ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำการ
สลับบทบาทเพศนี้ทั้งในระดับของแม่และพ่อของตัวละครทั้งสองได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ประเด็นที่สนับสนุนความเป็น New Woman ของเอโนลา รวมทั้งแม่ของเอโนลาได้อีก
ประเด็นหนึ่งคือ ความเป็นชนชั้นกลาง โดยอาจวิเคราะห์ได้จากฐานะทางครอบครัวของเอโนลาที่พี่ช ายทั้ง 2
คนของตระกูลมีหน้าที่การงานที่ดี มีคฤหาสน์ที่มีข้ารับใช้คอยดูแล แสดงถึงความมีฐานะในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ชน
ชั้นแรงงานที่ต้องทำงานในระบบโรงงานอุตสาหกรรมหรืออาศัยในเขตสลัม แต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยหรือมีอำนาจมาก
อย่างขุนนางหรือชนชั้นสูงเสียทีเดียว ซึ่งประเด็นความเป็นชนชั้นกลางที่เข้าถึงการศึกษาได้และมองเห็นปัญหา
ปิตาธิปไตยในสังคมนี้ก็สามารถเชื่อมโยงได้กับลักษณะของผู้หญิง New Woman หรือลักษณะของกลุ่มผู้หญิง
ที่เรียกร้องสิทธิสตรีในตอนต้นดังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้า ซึ่งลักษณะของผู้หญิงชนชั้นสูงในสังคมที่ไม่ต้องการ
เปลี่ยนแปลงความสะดวกสบายที่ตนมีนั้นก็ถูกนำเสนอผ่านตัวละครที่เป็นย่าของทิวส์เบอรี ซึ่งได้แสดงออก
ทัศนคติของเธอผ่านบทสนทนากับเอโนลาว่า “ในขณะที่โลกของเราไม่มั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ มันก็ยิ่งจำต้องรักษา
แนวคิดพวกนี้ของอังกฤษไว้ เพื่ออนาคตของประเทศที่ปลอดภัยและมั่นคง” (Bradbeer, 2020, 1:09:58)
แสดงให้เห็นถึงความต้องการคงรักษาแนวคิดเก่าตามระบอบเดิมที่เอื้อประโยชน์ให้แก่คนชนชั้นสูงอย่างตัวเธอ
เอง และพยายามที่จะกำจัดคนที่มีความคิดสมัยใหม่ที่อยากจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้าและมีความ
15

ทัดเทียมมากขึ้น อย่างเช่นพ่อของทิวส์เบอรี และตัวเธอเองก็คลางแคลงใจในความเป็นหัวสมัยใหม่ของทิวส์เบอ


รีดังที่ปรากฏในคำพูดของเธอที่ว่า “ลูกชายฉันก็เป็นพวกหัวสมัยใหม่ ... ฉันสังหรณ์ใจว่าหลานชายฉันก็คงเป็น
เหมือนกัน” (Bradbeer, 2020, 1:10:20) ซึ่งจะนำไปสู่ปมของการที่ทิวส์เบอรีถูกไล่ลาโดยนักฆ่านั่นเอง
ในตอนท้ายของเรื่อง ด้วยความสามารถในการตัดสินใจเบนเส้นทางไปยังคฤหาสน์แบซิลเวเธอร์ ทักษะ
ในการต่อสู้ และความเฉลียวฉลาดมีไหวพริบของเอโนลาก็สามารถทำให้ทั้งทิวส์เบอรีและตัวเธอเองหลุดพ้น
จากการสังหารของนักฆ่าที่ย่าของทิวส์เบอรีเป็นคนส่งมา และยังสามารถจับกุมและเปิดโปงย่ าผู้อยู่เบื้องหลัง
ของการเสียชีวิตของพ่อของทิวส์เบอรีได้ ด้วยความช่วยเหลือของเอโนลานี้ทำให้ทิวส์เบอรีมีชีวิตรอดและได้ลง
มติเห็นชอบให้แก่พระราชบัญญัติปฏิรูปหรือ Reform bill ในสภาได้ตามที่ตนเองตั้งใจไว้ ซึ่งหากอ้างอิงตาม
หลักฐานประวัติศาสตร์ พระราชบัญญัติฉบับนี้ จะส่งผลให้มีผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในอังกฤษมากขึ้น
ถึงแม้ผู้มีสิทธิเหล่านั้นจะเป็นผู้ชายก็ตาม
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าทั้งในตัวบทวรรณกรรมและภาพยนตร์ เอโนลาถูกนำเสนอให้เป็น
ผู้หญิงที่ไม่ได้มีลักษณะของผู้หญิงตามขนบ ไม่ว่าจะทั้งความสงบเสงี่ ยม ความอ่อนน้อม การเอาใจใส่การบ้าน
การเรือน หรือแม้กระทั่งการสวมใส่ชุดที่สังคมมองว่าเหมาะกับความเป็นกุลสตรีตามแบบฉบับของ True
Woman แต่เอโนลากลับมีลักษณะนิสัยที่ตรงกันข้ามคือช่างสังเกต ชอบผจญภัย กล้าหาญ เฉลียวฉลาด และ
ชื่นชอบในการก้าวออกจากกรอบของ Separate spheres ที่สังคมกำหนดไว้ ลักษณะของเอโนลาที่แตกต่าง
จากผู้หญิงในยุคเดียวกันถูกนำเสนอว่าเป็น ‘ความพิเศษ’ ในตัวเอโนลาและยังเป็นการฉีกกรอบความคิดเหมา
รวมทางเพศ (Gender Stereotypes) 2ซึ่งเป็นลักษณะของ New Woman ตามบริบทของสังคมร่วมสมัย อีก
ทั้งความพิเศษของเอโนลายังถูกนำเสนอผ่านบทสนทนาระหว่างเอโนลาและเชอร์ล็อกที่ว่า “อาจฟังดูอ่อนไหว
นะ แต่แม่... แม่มองว่าเธอพิเศษมาตลอด ซึ่งฉันก็คิดเหมือนกัน เอโนลา โฮล์มส์” (Bradbeer, 2020, 1:26:40)
และฉากต่อมาที่เอโนลาดีใจกับคำว่า ‘พิเศษ’ ‘extraordinary’ เมื่อได้รับรู้ว่าแม่และพี่ชายมองเธอว่าเป็น
เช่นนั้น (Bradbeer, 2020, 1:27:50) ซึ่งลักษณะประการนี้ก็สัมพันธ์กับความเป็น New Woman ของตัวเอโน
ลาอย่างมีนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เอโนลาจะถูกนำเสนอว่าเก่งกาจ มีความสามารถทั้งทางสติปัญญา
และการต่อสู้ มีความพิเศษที่ฉีกจากขนบ และความเป็น New Woman อย่างไร แต่สิ่งที่เอโนลาทำได้จากการ
ความสามารถทั้งหมดที่เธอมีนี้กลับเป็นการช่วยให้ตัวละครชายอย่างทิวส์เบอรีสามารถมีชีวิตรอดและไป
ลงคะแนนเสียงให้มีมติผ่านพระราชบัญญัติปฏิรูปซึ่งเป็นกระบวนการทางการเมืองที่ผู้ชายชนชั้นสูงอย่างทิ วส์
เบอรีทำได้โดยตรง ดังนั้น บทบาทของเอโนลาก็ถูกผลักให้ไปเป็นบทบาทรองจากการช่วยเหลือสนับสนุนทิวส์

2 Gender stereotypes หรือการเหมารวมทางเพศ คือความคิดตายตัวที่ยึดติดและตอกย้ำความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนในสังคมในแง่มุมของ


สถานภาพและบทบาททางเพศ ซึ่งจะปรากฏผ่านชุดความคิดของความเป็นหญิง ความเป็นชาย ซึ่งจะนำไปสู่ปดิ กั้นโอกาสในการกระทำใด ๆ
ด้วยเหตุที่ว่าผู้กระทำนั้นเป็นเพศอื่นที่ไม่ใช่เพศที่ถูกมองว่าทำสิ่งนัน้ ได้เป็นปกติ (Office of the United Nations High Commissioner for
Human Rights, [n.d.])
16

เบอรีดังกล่าว และกลับหักล้างความต้องการนำเสนอบทบาทของผู้หญิงสมัยใหม่หรือ New Woman ของเอโน


ลา และยังคงสะท้อนกรอบสังคมปิตาธิไตยที่ครอบบทบาทของผู้หญิงอยู่เช่นเดิม

สรุป
จากการศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงวิเคราะห์และศึกษาวรรณกรรมและภาพยนตร์ดัดแปลง
เรื่อง Enola Holmes พบว่า ด้วยตัวลักษณะนิสัยของเอโนลานั้นมีความเป็น New Woman อย่างเห็นได้ชัด
ผ่านการนำเสนอของทั้งผู้เขียนวรรณกรรมและผู้สร้างภาพยนตร์ ซึ่งขบวนการ New Woman เองก็เป็นการ
เคลื่อนไหวที่เริ่มต้นในยุคที่เอโนลาอาศัยอยู่ โดยเป็นกลุ่มของหญิงสาวที่ลุกขึ้นมาต่อต้านกรอบของผู้หญิงตาม
ยุควิคตอเรีย หรือ True Woman และยังเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรี ผลักดันและสนับสนุนให้ผู้หญิง
ออกมาใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง ลักษณะของ New Woman ที่ปรากฏในตัวเอโนลานี้เห็นได้จากการที่เอโนลา
ชอบทำกิจกรรมภายนอกบ้าน ชอบการผจญภัย มีความคิดที่ต่อต้านกรอบหญิงสาวตามจารีตประเพณี ทั้งยัง
ตระหนักรู้ถึงความอยุติธรรมที่สังคมแบบปิตาธิปไตยมอบให้แก่เพศหญิง แต่อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของ
New Woman ในขณะนั้นก็ยังคงถูกจำกัดไว้ด้วยค่านิยมทางสังคม แม้ว่าผู้หญิงจะได้รับสิทธิในการออกมาใช้
ชีวิตมากขึ้น ทว่าก็ยังไม่มีสิทธิทางการเมือง สืบเนื่องมาจากโครงสร้างของสังคมชายเป็นใหญ่ในยุคนั้น ดังนั้น
การที่เอโนลาช่วยชีวิตทิวส์เบอรีได้ทำให้ทิวส์เบอรีที่เป็นขุนนางหัวสมัยใหม่ไ ด้ลงคะแนนเสียงในสภาเพื่ออนุมัติ
reform bill ในแง่หนึ่งอาจมองว่าเอโนลาได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างที่ผู้หญิง
ไม่เคยมีส่วนร่วมมาก่อน แต่การที่เอโนลาที่มีความเก่งกาจ มีความสามารถทั้งทางสติปัญญาและทางกายภาพ
สามารถช่วยเหลือให้ทิวส์เบอรีมีชี วิตรอดและไปใช้สิทธิทางการเมืองได้นั้นก็ยัง คงแสดงความเป็นบทบาทรอง
ของผู้หญิง คือการอยู่ในฐานะผู้สนับสนุนผู้ชายอย่างทิวส์เบอรีอยู่ดี และเอโนลาเองก็ไม่ได้มีสิทธิมีเสียงทาง
การเมืองโดยตรง แม้ตามบริบทสังคมและประวัติศาสตร์ที่ reform bill ที่อนุมัติผ่านในคราวนั้นจะนำไปสู่การ
มีสิทธิมีเสียงทางการเมืองของผู้หญิงต่อมาได้ในปีค.ศ. 1918 ดังที่ได้กล่าวถึงในบริบททางประวัติศาสตร์ก่อน
หน้านี้ แต่กระบวนการเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธินั้นยังคงต้องดำเนินตามกรอบขนบของสังคมปิตาธิปไตยที่
ครอบให้ผู้หญิงมีบทบาทเป็นช้างเท้าหลัง หรือ supporting role อยู่ดี กล่าวคือ ในท้ายที่สุด แม้ว่าเอโนลา
โฮล์มส์จะมีความเป็น New Woman อยู่ในตัว ทว่าด้วยสังคมปิตาธิปไตยที่จำกัดความสามารถและการกระทำ
ของผู้หญิงเอาไว้ในกรอบก็ยังส่งผลให้เอโนลามีสถานะเป็นเพียง supporter ของผู้ชาย ซึ่งถือเป็นบทบาทรองที่
ช่วยให้ผู้ชายประสบความสำเร็จเพียงเท่านั้น
17

บรรณานุกรม
ภาษาไทย
ตุลย์ อิศรางกูร และภาวรรณ เรืองศิลป์. (2562). การปฏิวัติอุตสาหกรรม. เอกสารประกอบการบรรยาย
รายวิช า 2204182 อารยธรรมตะวันตก. กรุงเทพฯ: ภาควิช าประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ตุลย์ อิศรางกูร และภาวรรณ เรืองศิลป์. (2562). โลกตะวันตกกับอารยธรรมช่วงเปลี่ยนทศวรรษ (The West
at the Turn of the Century, c.1880 - 1920). เอกสารประกอบการบรรยายรายวิชา 2204182
อารยธรรมตะวันตก. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุวิดา ธรรมมณีวงศ์. (2543). การเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement). อักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัย
ศิลปากร, 23(2), 1. สืบค้นจาก http://www.arts.su.ac.th/document/suwida/001.pdf
อังกฤษ “ปฏิรูป” อะไรในภาพยนตร์เรื่อง “Enola Holmes” ?. 2563. สืบค้นจาก https://www.silpa-
mag.com/history/article_55995

ภาษาอังกฤษ
Bradbeer, H. (Director). (2020). Enola Holmes [Motion Picture]. Retrieved from
https://www.netflix.com
Burnette, J. [n.d.]. Women Workers in the British Industrial Revolution. Retrieved from
https://eh.net/encyclopedia/women-workers-in-the-british-industrial-revolution/
Buzwell, G. (2 0 1 4 ) . Daughters of decadence: the New Woman in the Victorian fin de siècle.
Retrieved from https://www.bl.uk/romantics-and-victorians/articles/daughters-of-
decadence-the-new-woman-in-the-victorian-fin-de-siecle#
Cruea S. M. (2 0 0 5 ) . Changing Ideals of Womanhood During the Nineteenth-Century Woman
Movement. Retrieved from https://scholarworks.bgsu.edu/gsw_pub/1/
Eliot, S. [n.d.]. "Aspects of the Victorian Book: Introduction". British Library. Retrieved from
http://www.bl.uk/collections/early/victorian/pr_intro.html
Emsley C., Hitchcock T., Shoemaker R. [n.d.]. "Historical Background - Gender in the
Proceedings". Retrieved from https://www.oldbaileyonline.org/static/Gender.jsp
18

Feminism: Cultural Movements. (2020, December 10). In Wikipedia. Retrieved December 10,
2020, from https://en.wikipedia.org/wiki/Feminism#Cultural_movements
Gerwig, G. (Director). (2020). Little Women [Motion Picture]. Retrieved from
https://www.netflix.com
Jeffers. 2 0 1 5 . The 1 9 th Century Entailment. Retrieved from https://austenauthors.net/the-
19th-century-entailment/
Kuesten, A. K. (2003). Separate Spheres Doctrine. In Women and the law: leaders, cases and
documents. (pp. 16-17). Santa Barbara: ABC-Clio.
Maguire G. E. (1 9 9 8 ) . The Conservative Party and the Campaign for Women’s Suffrage. In
Conservative Women. St Antony’s Series. Palgrave Macmillan, London. Retrieved from
https://doi.org/10.1057/9780230376120_4
Mahajan P., Randhawa J. Emergence of 'New Woman': A Study of Origin of the Phrase in the
West from Historical Perspective. IOSR Journal Of Humanities And Social Science (IOSR-
JHSS), 2 0 1 6 ( 2 1 ) , 1 - 3 . Abstract retrieved from IOSR Journal. (doi:1 0 . 9 7 9 0 / 0 8 3 7 -
2103010104)
New Woman: Class differences. (2020, December 10). In Wikipedia. Retrieved December 11,
2020, from https://en.wikipedia.org/wiki/New_Woman#Class_differences
Nodelman, P. (1 9 8 8 ) . Children's Literature as Women's Writing. Children's Literature
Association Quarterly. 13 (1), 33. doi:10.1353/chq.0.0264
Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights. [n.d.]. Gender Stereotyping.
Retrieved from https://www.ohchr.org/en/issues/women/wrgs/pages/genderstereo
types.aspx
Pillay, N. (n.d.). Are Human Rights Universal? Retrieved from
https://www.un.org/en/chronicle/article/are-human-rights-universal
Population Reference Bureau. (2 0 0 9 ) . Human Population: Urbanization. Retrieved from
https://www.prb.org/humanpopulation/
19

Pucci, C. [n.d.]. Victorian Age, Charles Dickens and Thomas Hardy. Retrieved from
https://www.academia.edu/38291328/Victorian_Age_Charles_Dickens_and_Thomas_H
ardy
Rampton M., (2 0 1 5 , October 1 5 ) . Four Waves of Feminism [Online Forum]. Retrieved from
https://www.pacificu.edu/magazine/four-waves-feminism#:~:text=The% 2 0 first% 2 0
wave%20of%20feminism,with%20a%20focus%20on%20suffrage.
Reform Bill. (2020, May 28). In Encyclopædia Britannica. Retrieved December 11, 2020 from
https://www.britannica.com/event/Reform-Bill
Springer, N. (2 0 0 7 ) . The Case of the Missing Marquess: an Enola Holmes mystery. New York:
Puffin Books.
Symes, R. A. (1995). Educating women : the preceptress and her pen 1780-1820. (PhD thesis,
University of York). Retrieved from http://etheses.whiterose.ac.uk/2473/
White, E. M. (2 0 0 9 ) . Representations of the True Woman and the New Woman in Harper's
Bazar (Graduate Theses and Dissertations, Iowa State University). Retrieved from
https://lib.dr.iastate.edu/etd/10695
Women’s Suffrage in the United Kingdom: Timeline. (2 0 2 0 , 4 December). In Wikipedia.
Retrieved December 1 1 , 2 0 2 0 from https://en.wikipedia.org/wiki/Women% 2 7 s_
suffrage_in_the_United_Kingdom#Timeline

You might also like